เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับอินเดีย

ข้อมูลประเทศอินเดีย

อินเดีย  ดินแดนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานกว่า 5,000 ปี เป็นถิ่นกำเนิดศาสดาและศาสนาสำคัญของโลก รวมถึงศิลปวัฒนธรรมประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์อีกทั้งยังเป็นต้นแบบด้านวัฒนธรรมไปยังภูมิภาครอบข้าง ซึ่งประเทศไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่า วัฒนธรรม ประเพณี     และศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของเรานั้น          ล้วนแล้วมีต้นรากมาจาก “ ประเทศอินเดีย ” แทบทั้งสิ้น

ชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ : สาธารณรัฐอินเดีย ( Republic of India )

ชื่อประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า “ ชมพูทวีป ” ซึ่งแปลว่า “ ทวีปแห่งไม้หว้า ” เพราะมีต้นหว้าขึ้นมากในดินแดนแห่งนี้ ส่วนคำว่า “ อินเดีย ” เป็นคำในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งเรียกแม่น้ำสินธุ ว่า “ ฮินดู ” เนื่องจาก   ชาวเปอร์เซียรู้จักอินเดีย โดยเข้ามาทางลุ่มน้ำนี้เมื่อ 3,000 กว่าปีมาแล้ว  ต่อมาเมื่อชาวกรีกเริ่มเข้ามา ได้ออกเสียงคำว่า ฮินดูเพี้ยนไปเป็น “ อินโดส ” และเพี้ยนออกไปเป็น “อินดุส” และ “อินเดีย” ตามลำดับ

แต่สำหรับชาวอินเดียแล้ว นิยมเรียกประเทศตนเองว่า “ภารตะ” หรือ “ภารตวรรษ” ซึ่งแปลว่า “ ประเทศภารตะ ” และเรียกตนเองว่าเป็น “ ชาวภารตะ” ทั้งนี้สืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่า ชาวอินเดียสืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต (อ่านว่า พะ-รต)  ซึ่งเป็นต้นวงศ์ของเรื่องราวในมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดีย คือ  “มหาภารตยุทธ์” ซึ่งมีชื่อเสียงคู่กันกับ “มหากาพย์รามายณะ” หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “รามเกียรติ์”

ประเทศอินเดียในครั้งที่เรียกว่า ชมพูทวีปนั้น มีพื้นที่กว้างขวางมากกว่าประเทศอินเดียในปัจจุบันนี้มาก โดยกินอาณาบริเวณเมื่อเทียบกับปัจจุบัน เท่ากับ 7 ประเทศรวมกัน คือ  1. อินเดีย  2. ปากีสถาน   3. บังกลาเทศ    4. เนปาล  5. ภูฎาน       6.  สิกขิม (รัฐในอารักขาของอินเดีย)  7. บางส่วนของอาฟกานิสถาน ซึ่งหากรวมทั้ง 7 ประเทศนี้แล้ว จะมีจำนวนประชากรพอ ๆ  กับประเทศจีนทีเดียว

 อินเดียปัจจุบัน

ประเทศอินเดียมีเนื้อที่ทั้งหมด ประมาณ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทย 6 เท่า หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดียปัจจุบันประกอบด้วย 28 รัฐ 7 เขตปกครองพิเศษ เมืองหลวงของประเทศคือเมืองเดลี อยู่ในรัฐหรยาณา  และในแต่ละรัฐจะมีเมืองหลวงของรัฐนั้น ๆ ด้วย

สภาพภูมิประเทศ

อินเดียเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์ทุกรูปแบบ คือ ที่ราบสูงอยู่ตอนเหนือ ซึ่งมีภูเขาหิมาลัยเป็นแนวเขตแดนธรรมชาติ และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ โดยเฉพาะแม่น้ำสำคัญ 5 สาย ที่เรียกว่า “ปัญจมหานที” ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี  ตอนกลางเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุดในโลก ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือแถบแคว้นราชสถานเป็นส่วนของทะเลทรายทาร์ ส่วนทางตอนใต้มีทั้งที่ราบสูงอันแสนจะแห้งแล้ง และติดกับฝั่งทะเลซึ่งเป็นเขตมรสุม

เนื่องจากมีความหลากหลายในเชิงภูมิศาสตร์ เป็นเหตุให้อินเดียมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันอย่างมาก จากหนาวที่สุดที่มีหิมะปกคลุมทั้งปี ไปจนถึงร้อนที่สุดจนคนตาย  จากแห้งแล้งที่สุดไปจนถึงเขตที่มีฝนตกชุกที่สุดของโลก  ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อินเดียจะเป็นสวรรค์ของบรรดานักวิชาการด้านต้นไม้ พันธุ์พืชและสัตว์ต่าง ๆ อย่างยากที่ประเทศใดจะเทียบได้

ประชากร

อินเดียมีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศจีน คือ ประมาณ หนึ่งพันหนึ่งร้อยล้านคน ส่วนใหญ่ร้อยละ 72 เป็นชนเผ่า  อินโด-อารยัน   ชนพื้นเมืองเดิมคือเผ่าดราวิเดียน หรือทมิฬ มีประมาณร้อยละ 25  นอกนั้นเป็นเผ่ามองโกล ทิเบตและเตอร์ก

ภาษา

อินเดียมีภาษาถิ่นมากกว่า 200 ภาษา แต่รัฐธรรมนูญรับรองเพียง 14 ภาษา และภาษาทางราชการคือภาษาฮินดี ซึ่งมีประชากรพูดมากที่สุดคือ ร้อยละ 40  ซึ่งภาษาฮินดีนี้คือการเปลี่ยนแปลงรูปมาจากภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีนั่นเอง

การเมืองการปกครอง

อินเดียเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และกระจายอำนาจการปกครองในลักษณะสหพันธรัฐ (Federal System) แบ่งออกเป็นรัฐต่างๆ 28 รัฐ โดยล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2544 โลกสภาได้เห็นชอบร่างรัฐบัญญัติในการจัดตั้งรัฐใหม่ 3 รัฐ คือ รัฐฉัตตีสครห์ (Chattisgarh) รัฐอุตตะรันจัล (Uttaranchal) และรัฐฉรขันท์ (Jharkhand) ซึ่งแยกออกจากรัฐมัธยประเทศ  อุตตระประเทศ และรัฐพิหาร ตามลำดับ และสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง (Union Territories) อีก 7 เขต

รัฐธรรมนูญอินเดียแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลกลาง (Government of India) และรัฐบาลมลรัฐ (State Government) อย่างชัดเจน โดยรัฐบาลกลางดำเนินการเรื่องการป้องกันประเทศด้านนโยบายต่างประเทศ การรถไฟ การบิน และการคมนาคมอื่นๆ ด้านการเงิน ด้านกฎหมายอาญา ฯลฯ ส่วนรัฐบาลมลรัฐมีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและรักษากฎหมาย การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมลรัฐ

เศรษฐกิจ

อินเดียเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ประชากรกว่าร้อยละ 60 ยังประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปัญหาความยากจนและการว่างงานเป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากการปิดประเทศและดำเนินนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมภายในมานาน อย่างไรก็ดี อินเดียเริ่มเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2534 เนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่งผลให้มีการลงทุนจากต่างชาติในกิจการด้านไฟฟ้า พลังงาน และอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ได้เปิดเสรีด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารในปี 2543 ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอินเดียดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันอินเดียเป็นตลาดใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่ง จากนานาชาติ

ในปี 2547 เศรษฐกิจอินเดียเติบโตเป็นอันดับที่ 12 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีน โดยมี GDP 505.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจอินเดียไตรมาสสุดท้ายของ ปี 2546 เติบโตถึงร้อยละ 10 เนื่องจากเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรได้เต็มที่ การส่งออกเติบโตถึงร้อยละ 10 รายได้จากการลงทุนโดยตรงของต่างชาติมีจำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยต่ำลง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 4.91 ตลาดเงินทุนแข็งแกร่ง เงินทุนสำรองต่างประเทศสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

วัฒนธรรม

อินเดียเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมอารยธรรมที่เก่าแก่ พุทธศาสนามีอิทธิพลต่ออินเดียทั้งที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุและทางจิตใจ ได้มีสถาปัตยกรรม และปติมากรรมทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นมากมาย ล้วนมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เช่นสังเวชนียสถานอันเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวพุทธทั่วโลกไปกราบนมัสการ ส่วนวัฒนธรรมทางจิตใจนั้นมีอิทธิพลต่อชาวอินเดียอยู่ไม่น้อย เช่นความเชื่อเรื่องอหิงสา เป็นต้น

วัฒนธรรมอินเดียแม้จะมีการเลือกปฏิบัติ แต่ให้เกียรติผู้หญิง คนอินเดียจะไม่แตะต้องร่างกายผู้หญิงในที่สาธารณะ มารยาทในการทักทายกัน ทั้งหญิงและชายจะพนมมือไหว้เหมือนคนไทย แต่ไม่ก้มศีรษะ ไม่มีการจับมือกันแบบเช็คแฮนด์เช่นชาวยุโรป ในชนบท ผู้ชายมักจ้องมองผู้หญิงโดยเฉพาะหญิงต่างชาติอย่างจริงจัง ไม่ต้องตกใจกลัว พวกเขามองเพราะสนใจและสงสัย ไม่ได้มีเจตนาจะมาทำร้ายแต่ประการใด

ศาสนา

อินเดียเป็นดินแดนแห่งศาสนาโดยแท้ ตั้งแต่โบราณกาลมาจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะอินเดียมีภูมิประเทศ ที่อยู่ และเผ่าชนเป็นปรัชญาเมธีต่างๆ ในการค้นคิดในเรื่องของชีวิตและทางด้านคำสั่งสอน จนเกิดลัทธิศาสนาต่างๆ มากมายที่สุดในโลก จะเรียกอินเดียเป็นโลกแห่งศาสนาก็ว่าได้ ศาสนาที่สำคัญมีอยู่ในโลกปัจจุบันเกิดในอินเดีย ถึง ๔ ศาสนา คือ พราหมณ์ หรือ ฮินดู พุทธ เชน หรือ นิครนถ์ และ ซิกข์